เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต คอร์สออนไลน์ของคุณสามารถเปิดรับผู้เรียนได้จากทั่วโลก และช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสลับคมทักษะสำคัญๆ ในราคาที่ต่ำกว่าการไปเรียนในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม
บทความนี้จะพาคุณไปพบกับ10 ขั้นตอนในการสร้างคอร์สออนไลน์ ที่นอกจากจะสร้างผลกำไรให้คุณแล้ว ยังสร้างผลลัพธ์ดีๆ ให้กับผู้เรียนของคุณด้วย
หลังอ่านจบ สิ่งที่คุณจะได้ติดตัวไปคือแบบแผนสำหรับการสร้างคอร์สที่จะวางตัวให้คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่คุณทำอยู่ พร้อมสร้างรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อ และช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนของคุณประสบความสำเร็จ
วิธีสร้างคอร์สออนไลน์ใน 10 ขั้นตอน
- เลือกหัวข้อคอร์ส
- วิจัยลูกค้า
- เลือกรูปแบบคอร์ส
- ทดสอบว่าคอร์สของคุณเป็นที่ต้องการสูงหรือไม่
- ขายคอร์สล่วงหน้า
- ร่างเนื้อหาคอร์ส
- ตั้งราคาคอร์สและตั้งเป้ายอดขาย
- เลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะกับคอร์ส
- เปิดตัวและโฆษณาคอร์ส
- รวมข้อเสนอแนะและรีวิวจากผู้เรียน
1. เลือกหัวข้อคอร์ส
การขยายตัวของพื้นที่การเรียนรู้ทางออนไลน์และประโยชน์ของการสร้างคอร์สออนไลน์ กำลังส่งสัญญาณสำคัญ นั่นก็คือ คุณจะต้องเจอการแข่งขันเมื่อคุณนำคอร์สออนไลน์ของคุณออกสู่ตลาด คอร์สออนไลน์มีอยู่มากมายเต็มไปหมดในหลากหัวข้อ ตั้งแต่การตลาดดิจิทัลและการตัดต่อวิดีโอ ไปจนถึงคอร์สสอนเขียน และสอนการเป็นผู้ประกอบการ
เมื่อคิดจะสร้างคอร์สออนไลน์ คุณควรเลือกหัวข้อที่คุณมีความเหมาะสมเป็นพิเศษที่จะสอน โดยเป็นหัวข้อเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่คุณรู้จริง มีความน่าเชื่อถือ ความเชี่ยวชาญ และความหลงใหล นอกจากนี้ คุณควรจะเช็คให้แน่ใจด้วยว่าหัวข้อของคอร์สนั้นเป็นหัวข้อที่มีความต้องการในตลาดสูง
ความเข้าใจในวงการ ความเชี่ยวชาญ และความน่าเชื่อถือ
มือใหม่ย่อมต้องการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และต้องการรู้ว่าพวกเขากำลังฟังจากคนที่มีชื่อเสียงในสาขานั้นๆ และด้านล่างนี้คือคุณสมบัติที่บ่งบอกว่าคนคนนั้นคือคุณนั่นเอง
- คุณมีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมนั้นมาหลายปีหรือหลายทศวรรษ และมีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ในระดับสูง
- คุณได้พัฒนาความรู้หรือทักษะในหัวข้อของคอร์สมาหลายปีหรือหลายทศวรรษ
- คุณรู้บริบททางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนั้น
- คุณสามารถคาดการณ์อนาคตของอุตสาหกรรมได้อย่างมีข้อมูลมารองรับ
- คุณมีความรู้หรือทักษะที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในหัวข้อนั้นและสามารถถ่ายทอดข้อมูลนี้ให้ผู้อื่นได้
- คุณคุ้นเคยกับความผิดพลาด หรืออุปสรรคทั่วไปและสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้เริ่มต้นในการหลีกเลี่ยงได้
- คุณสามารถตอบคำถามของมือใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
- คุณมีใบรับรองหรือรางวัลที่บ่งบอกว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาของคุณ
- คุณมีประวัติที่พิสูจน์แล้วกับผู้คนที่สามารถพูดถึงคุณภาพงานและระดับความเชี่ยวชาญของคุณ
- คุณได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำความคิดในสาขาที่คุณเชี่ยวชาญ และคุณมีได้ทวีต เขียนบล็อก หรือแชร์ความรู้ของคุณกับผู้อ่านจำนวนมาก
- คุณเคยไปออกพอดแคสต์ หรือถูกพูดถึงในบทความและ/หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญที่มี
ความหลงใหล
การจัดทำคอร์สที่ครอบคลุมและมีประโยชน์ ต้องใช้เวลาและพลังงานอย่างมีความหมาย ใช้ทั้งเวลาและพลังงานไม่น้อย นี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีความมุ่งมั่นและพยายาม
- คุณกระตือรือร้นมากในสาขาของคุณและสามารถทำให้ผู้เรียนรู้สึกตื่นเต้นไปด้วยได้
- คุณต้องการที่จะช่วยผู้คนให้มีทักษะและความรู้ในสาขาของคุณ
- คุณยินดีที่จะทุ่มเพื่อให้บริการคอร์สที่ดีกว่าคู่แข่ง
- คุณตื่นเต้นกับแนวคิดในการจัดหลักสูตรตามความรู้และความเชี่ยวชาญ
- คุณมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ อย่างต่อเนื่อง
เป็นที่ต้องการของตลาด
ในขณะที่ความเชี่ยวชาญและความหลงใหลของคุณเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อเลือกหัวข้อคอร์สที่คุณจะสอน คอร์สของคุณยังต้องเป็นที่ต้องการในตลาดสูงด้วย เพื่อให้คอร์สนั้นประสบความสำเร็จ นี่คือตัวอย่างสัญญาณที่บ่งบอกว่าคอร์สของคุณได้รับความสนใจเพียงพอ
- หัวข้อคอร์สของคุณอยู่ในวงการธุรกิจที่กำลังเติบโต ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่กำลังหดตัว
- หัวข้อคอร์สมียอดการค้นหาสูงในเครื่องมือค้นหา เช่น Google
- มีคอร์สที่คล้ายกันที่พัฒนาโดยคู่แข่ง
- คอร์สของคุณสอนชุดทักษะที่มีความต้องการสูง
- คุณพบว่ามีผู้ชมที่ต้องการเรียนคอร์สนั้น แต่ไม่มีให้เรียน และคุณกำลังเติมเต็มช่องว่างในตลาดนี้
แม้ว่าคอร์สของคุณไม่จำเป็นต้องตรงกับเกณฑ์เหล่านี้เป๊ะ แต่การมีความเข้าใจและความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น รวมทั้งความน่าเชื่อถือ และความหลงใหลในด้านที่คุณถนัดจะสร้างความแตกต่าง และทำให้คอร์สของคุณโดดเด่นกว่าคู่แข่ง และมีข้อเสนอการขายที่เป็นเอกลักษณ์ในสายตาว่าที่ผู้เรียน
นอกจากนี้ การวิจัยและทดสอบว่าหัวข้อคอร์สของคุณมีความต้องการในตลาดหรือไม่ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน หัวข้อคอร์สที่เฉพาะทางมากๆ เช่น “การผลิตเมเปิลไซรัปแท้” หรือ “การทำดนตรีแนวสกา” อาจไม่มีความต้องการเพียงพอที่จะทำให้คอร์สของคุณมีกำไรได้ (เรียนรู้วิธีตรวจสอบว่า “คอร์สของคุณเป็นที่ต้องการของตลาดหรือเปล่า?” ได้ในบทความนี้)
2. วิจัยลูกค้า
แม้การเลือกหัวข้อของคอร์สจะเป็นหัวใจสำคัญ แต่คุณยังอยู่ห่างจากการสร้างเนื้อหาคอร์ส และการเข้าสู่กระบวนการขายอีกหลายขั้นตอน
ก่อนอื่น การเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของคุณก่อนที่คุณจะเริ่มวางแผนเนื้อหาสำหรับพวกเขานั้นสำคัญมาก
ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการสร้างคอร์ส ประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากการวิจัยลูกค้าและกำหนดนิยามว่าลูกค้าในอุดมคติของคุณคือกลุ่มไหนมีดังนี้
- ได้มองมุมเดียวกับผู้เริ่มต้นเรียน: การเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาหนึ่ง มักหมายถึงการตกอยู่ในคำสาปของความรู้ ซึ่งจะทำให้คุณหลงคิดไปว่าผู้ที่คุณสื่อสารด้วยมีความรู้พื้นฐานเหมือนกับคุณ การพูดคุยกับผู้ที่มีโอกาสจะเป็นผู้เรียนของคุณจะช่วยให้คุณย้อนกลับไปมองในมุมเดียวกับผู้เริ่มต้นเรียน และช่วยให้คุณสามารถปรับแต่งคอร์สของคุณให้เหมาะสมได้
- เข้าใจปัญหาของผู้เรียน: คอร์สของคุณควรช่วยผู้ซื้อแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ ช่วยให้พวกเขาได้รับความรู้ในเรื่องที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นได้ หรือช่วยให้พวกเขาเรียนรู้บางสิ่งได้เร็วขึ้นหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าทางเลือกที่มีอยู่ หากต้องการให้คอร์สของคุณทำเช่นนี้ได้ คุณต้องรู้ว่าปัญหาที่ผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้เรียนกำลังเผชิญคืออะไรกันแน่ และคุณจะนำเสนอวิธีแก้ปัญหานั้นในคอร์สของคุณอย่างไรบ้าง
- เรียนรู้ว่าเป้าหมายของผู้เรียนคืออะไร: สำหรับผู้เรียน ส่วนที่สำคัญที่สุดของคอร์สคือความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ สิ่งที่พวกเขาจะเป็นหรือได้รับหลังจากที่ได้เรียนจบคอร์สของคุณ การพูดคุยกับผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้เรียนจะช่วยให้คุณค้นพบว่าพวกเขาวางเป้าหมายไว้อย่างไร
- รู้วิธีขายให้กับผู้เรียน: อย่างที่พูดกันว่า “ถ้าคุณขายให้ทุกคน ก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้ขายให้ใคร” การสร้างโปรไฟล์ “ลูกค้าในอุดมคติ” เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้คุณสามารถปรับแต่งเนื้อหาคอร์สและการตลาดของคุณในลักษณะที่ตอบโจทย์พวกเขาได้ การเรียนรู้ว่าคุณจะสื่อสารอะไรไปถึงลูกค้าในอุดมคติจะช่วยกำหนดทุกอย่าง ตั้งแต่หัวข้อที่คุณรวมไว้ในแลนดิ้งเพจ ไปจนถึงวิธีที่คุณโปรโมทคอร์สของคุณผ่านโซเชียลมีเดีย
ในการกำหนดลูกค้าในอุดมคติของคุณคือใคร คุณต้องก้าวข้ามการคาดเดาและการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการให้ได้ สิ่งที่คุณต้องทำคือให้คุณกำหนดลูกค้าในอุดมคติโดยใช้วิธีการแบบเดียวกับการทำวิจัยผู้ใช้ตามระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- สืนค้นข้อมูลจาก Google Trends: ใช้ Google Trends เพื่อค้นหาหัวข้อของคุณและดูว่ามีความสนใจเพิ่มขึ้นหรือลดลง คุณสามารถกรองตามประเทศและช่วงเวลาได้
- สำรวจ Reddit และ Quora: เมื่อเข้าไปใน Reddit ให้ไปที่ subreddit ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อคอร์สของคุณ และเรียกดูเธรดที่อาจมีประโยชน์ต่อการสร้างเนื้อหาคอร์ส ส่วนใน Quora ให้คุณมองหาคำถามที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อของคุณ และหาว่าผู้คนกำลังเผชิญความท้าทายแบบไหนและมีเรื่องไหนที่พวกเขาอยากรู้
- ค้นหาในโซเชียลมีเดียและฟอรั่มต่างๆ: ติดตามบุคคลที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมของคุณผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเช่น Twitter และ LinkedIn โดยเน้นไปที่บทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อคอร์สของคุณ
- สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์: นอกจากการทำวิจัยทุติยภูมิบนโซเชียลมีเดียแล้ว ให้คุณติดต่อกับผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้เรียนโดยตรงเพื่อสอบถามว่าพวกเขาพอจะมีเวลาว่างมาตอบคำถามเพื่อการวิจัยทางโทรศัพท์หรือไม่
การสัมภาษณ์ควรสัมภาษณ์กับผู้คนอย่างน้อย 10 คน โดยบอกว่าคุณกำลังเริ่มทำคอร์ส และอยากรบกวนให้พวกเขาช่วยตอบคำถาม 2-3 ข้อ เช่น
- มีปัญหาอะไรบ้างที่ฉันสามารถช่วยคุณแก้ได้?
- มีอุปสรรคใดบ้างที่ฉันสามารถช่วยคุณเอาชนะได้?
- เป้าหมายของคุณในการเรียนคอร์สนี้คืออะไร?
- ถ้าคุณเรียนจบคอร์สนี้ คุณหวังว่าจะได้ผลลัพธ์อะไร?
การสัมภาษณ์ผู้ใช้เพื่อการวิจัยควรกินเวลาไม่นาน และควรใช้โอกาสนี้ในการสอบถามถึงรูปแบบคอร์สและราคาที่พวกเขาต้องการ คุณสามารถเสนอค่าตอบแทนเพื่อจูงใจผู้ให้สัมภาษณ์โดยเป็นคอร์สเรียนฟรีหลังจากที่คุณจัดทำคอร์สเสร็จสิ้น
ใช้ข้อความต่อไปนี้เพื่อสอบถามผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้เรียน ว่าพวกเขาจะยินดีจะให้คุณสัมภาษณ์เพื่อการวิจัยผู้ใช้หรือไม่
“สวัสดีค่ะ/ครับ เรากำลังสร้างคอร์สเกี่ยวกับ _____ และอยากทำให้คอร์สนี้เป็นคอร์สที่มีประโยชน์สำหรับผู้เรียนจริงๆ เลยอยากทราบว่าคุณพอจะมีเวลาประมาณ 15 นาทีสำหรับการสัมภาษณ์ในรูปแบบวิดีโอคอลสั้นๆ หรือไม่ เพื่อให้เราหาคำตอบว่าคอร์สของเราจะสามารถช่วยคนอื่นๆ เช่นคุณให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไรได้บ้าง ถ้าคุณสนใจให้สัมภาษณ์ เราอยากจะมอบคอร์สเรียนฟรีเพื่อแสดงความขอบคุณแก่คุณหลังจากที่เราจัดทำคอร์สเสร็จ ”
การค่อยๆ ทำวิจัยผู้ใช้จะสร้างความแตกต่างในการสร้างคอร์สคุณภาพสูงที่สามารถนำไปโปรโมทให้กับผู้ซื้อในอุดมคติและมอบการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เรียน
3. เลือกรูปแบบคอร์ส
คอร์สนั้นก็มีหลายรูปแบบและมีสื่อกลางในการถ่ายทอดมากมาย วิธีที่คุณใช้วางโครงสร้างและส่งมอบคอร์สของคุณจะเป็นตัวบอกว่าคุณจะประชาสัมพันธ์คอร์สไปยังผู้ซื้อได้ด้วยวิธีไหน ในหลักสูตรของคุณจะมีเนื้อหามากน้อยเท่าไหร่ และคุณจะขายคอร์สในราคาเท่าไหร่จึงจะสมเหตุสมผล
เมื่อเลือกรูปแบบสำหรับคอร์สของคุณ สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาวิธีการส่งมอบคอร์สหลายๆ วิธี ตัวอย่างเช่น ผู้เรียนจะเข้าถึงเนื้อหาคอร์สและทำการบ้านตามเวลาที่พวกเขาสะดวกโดยไม่ต้องเรียนแบบเรียลไทม์ได้หรือไม่ หรือพวกเขาต้องมาเข้าเรียนในการสัมมนาออนไลน์ (Webinar) หรือคอร์สเรียนออนไลน์ตามเวลาที่กำหนด
คอร์สที่เรียนด้วยตนเองจะมอบความยืดหยุ่นให้ผู้เรียนสามารถเรียนตามเนื้อหาต่างๆ ตามความเร็วที่พวกเขาสะดวก ในขณะที่คอร์สแบบกลุ่มก็จะพาผู้เรียนไปตะลุยเนื้อหาพร้อมๆ กัน โดยมักจะมีเวลาเริ่มคอร์สและจบคอร์สที่กำหนดไว้
คุณต้องเลือกวิธีการส่งมอบคอร์สของคุณในตอนที่ตัดสินใจว่ารูปแบบโดยรวมของคอร์สจะเป็นอย่างไร ซึ่งรูปแบบของคอร์สก็มีหลักๆ อยู่ 3 แบบ ดังนี้
- คอร์สขนาดเล็ก
- คอร์สหลายวัน
- มาสเตอร์คลาส
คอร์สขนาดเล็ก
คอร์สขนาดเล็กมักใช้เวลา 1 หรือ 2 ชั่วโมง โดยถ่ายทอดออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นซีรีส์อีเมลหรือเพลย์ลิสต์ที่ประกอบด้วยคลิปวิดีโอ 10 คลิปเป็นต้น
คอร์สขนาดเล็กมักมีราคาไม่สูง (เช่น ต่ำกว่า 1,000 บาท) หรืออาจไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องมือการตลาดหรือแม่เหล็กที่จะดึงดูดผู้เรียนไปยังคอร์สที่เจาะลึกยิ่งขึ้นและมีราคาแพงกว่า คอร์สขนาดเล็กเช่นนี้เป็นวิธีเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้สร้างคอร์ส เพื่อลองตลาดและเรียนรู้วิธีการสร้างคอร์สที่ใหญ่ขึ้น
คอร์สหลายวัน
คอร์สหลายวันเป็นผลิตภัณฑ์การศึกษาดิจิทัลระดับกลางที่โดยมาก ผู้เรียนต้องใช้เวลาหลายวันในการเรียนให้จบคอร์ส
คอร์สในรูปแบบนี้อาจเป็นวิดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะแบ่งคอร์สออกเป็นระดับหรือโมดูลต่างๆ และมีเอกสารประกอบการเรียนเพิ่มเติม เช่น เวิร์กชีทหรือเช็กลิสต์ นอกจากนี้ อาจมีควิซเพื่อทดสอบความรู้ของผู้เรียนระหว่างการเรียนด้วย
คอร์สเหล่านี้มักอยู่ในช่วงราคาตั้งแต่ 2,500 ถึง 20,000 บาท คอร์สในรูปแบบหลายวันเหมาะสำหรับคุณ ถ้าคุณได้ทดลองแนวคิดของคุณผ่านการจัดคอร์สขนาดเล็กแล้ว
มาสเตอร์คลาส
มาสเตอร์คลาสจะมีระยะเวลาเท่าไหร่ก็ได้ เช่นตั้งแต่หลักสัปดาห์จนถึงหลักเดือน และมีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบเส้นทางสู่ความสำเร็จแบบครบวงจรให้กับผู้ซื้อ คอร์สประเภทนี้มักขายให้กับมืออาชีพและมีราคาตั้งแต่ 3,000 ถึง 50,000 บาท ถ้าคุณเพิ่งเริ่มสร้างคอร์ส โดยปกติแล้วคุณไม่ควรจะเริ่มต้นที่มาสเตอร์คลาส แต่คุณควรสั่งสมประสบการณ์โดยการสร้างคอร์สขนาดเล็กและคอร์สหลายวันก่อน
Jean-Martin Former และ Suleyka Montpetit ผู้ก่อตั้ง The Market Gardener Institute นำเสนอคอร์สหลากหลายประเภท รวมถึง The Market Gardener Masterclass ด้วย
คอร์สดังกล่าวใช้เวลาเรียน 40 ถึง 60 ชั่วโมง และมีโมดูลกว่า 40 โมดูล คลิปวิดีโอกว่า 50 คลิป เอกสารเชิงเทคนิคกว่า 45 ชุด และอีกมากมาย ชุมชนผู้เรียนก็เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่คอร์สนี้มอบให้เช่นกัน คอร์สนี้มีราคาอยู่ที่ 1,997 ดอลลาร์ หรือประมาณ 69,000 บาท และมาพร้อมเอกสารแจกแจงหลักสูตรที่สามารถดาวน์โหลดได้ ซึ่งจะบอกข้อมูลที่หมดที่คอร์สนี้นำเสนอ เพื่อให้คุณนำมาพิจารณาก่อนตัดสินใจชำระเงิน
คุณควรเลือกประเภทของคอร์สที่คุณสร้างตามประสบการณ์ของคุณในการสร้างคอร์ส ความลึกและความครอบคลุมของคอนเทนต์ที่คุณจะสร้าง และกำลังซื้อของผู้ค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของคุณ
4. ทดสอบว่าคอร์สของคุณเป็นที่ต้องการสูงหรือไม่
ในธุรกิจ การตรวจสอบแนวคิดของคุณก่อนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์เป็นขั้นตอนที่มีประโยชน์มากๆ ก่อนที่จะทุ่มเงินและเวลาสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่อาจขายไม่ออก คุณต้องทดสอบก่อนว่าคอร์สของคุณเป็นที่ต้องการของตลาดจริงๆ ก่อนที่จะลงมือทำตามไอเดียของคุณเต็มที่
วิธีหนึ่งที่สามารถใช้ทดสอบได้คือการสร้างสินค้าขั้นต้นสำหรับทดสอบ (Minimum Viable Product หรือ MVP) ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ Eric Reis นำเสนอไว้ใน The Lean Startup ซึ่ง MVP คือผลิตภัณฑ์ที่คุณปล่อยสู่สาธารณะโดยมีคุณสมบัติต่างๆ แค่พอสำหรับการตรวจสอบสมมติฐานของคุณ เมื่อคุณกำลังคิดว่าจะสร้างคอร์สออนไลน์อย่างไร ให้สร้างคอร์สในเวอร์ชั่น MVP ก่อน เช่น คอร์สขนาดเล็ก หรือการสัมมนาออนไลน์ฟรี เพื่อตรวจสอบไอเดียของคุณ
สร้างคอร์สขนาดเล็ก
คอร์สขนาดเล็กมักต้องการเวลาเรียนน้อยกว่า 2 ชั่วโมง และเน้นไปที่หัวข้อใดหัวข้อหนึ่งโดยเฉพาะ มากกว่าจะพยายามครอบคลุมแนวคิดกว้างๆ ซึ่งในอนาคต คอร์สขนาดเล็กอาจพัฒนากลายเป็นหนึ่งในหัวข้อหรือบทเรียนของคอร์สหลายวัน และนี่คือตัวอย่างการนำหัวข้อคอร์สกว้างๆ มาตีแคบลงเป็นคอร์สขนาดเล็กเวอร์ชั่น MVP
หัวข้อคอร์สแบบหลายวัน |
ไอเดียคอร์สขนาดเล็ก |
---|---|
การตลาดสำหรับสตาร์ทอัพ |
สร้างกลยุทธ์โซเชียลมีเดียแบบออร์แกนิกด้วยงบ 0 บาท |
การตลาดทางอีเมล 101 |
การแบ่งกลุ่มอีเมลใน Mailchimp |
วิธีการเขียนความเรียง |
เปิดเรื่องให้ผู้อ่านติดใจจนอยากอ่านต่อ |
พื้นฐานการถ่ายภาพ |
การจัดแสงและเงาในการถ่ายภาพ |
การเป็นผู้นำและการบริหารคน |
วิธีจัดการประชุมแบบ 1:1 ให้มีประสิทธิภาพ |
คอร์สขนาดเล็กจะทำให้สามารถเลือกหัวข้อที่คุณรู้จริงและจัดเต็มความเชี่ยวชาญของคุณได้เต็มที่ หรือปรับรูปแบบของสื่อการเรียนที่คุณมีอยู่แล้ว (เช่น โพสต์ในบล็อก, เทรนด์บน X, อีเมลจดหมายข่าว) ให้เปลี่ยนคอร์สให้อยู่ในรูปแบบอีเมล และคอร์สในรูปแบบนี้เองยังช่วยให้คุณสามารถเก็บอีเมลของคนที่คุณจะทำการตลาดคอร์สที่ใหญ่ขึ้นในอนาคตได้ด้วย ผู้ที่ลงทะเบียนและเรียนคอร์สขนาดเล็ก คือเครื่องยืนยันว่าในตลาดนั้นมีความต้องการสำหรับคอร์สที่ยาวกว่าในหัวข้อที่กว้างขึ้น
สร้างการสัมมนาออนไลน์ฟรี
อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้าง MVP เพื่อตรวจสอบยืนยันว่าตลาดต้องการคอร์สของคุณจริงๆ คือการสร้างการสัมมนาออนไลน์เพ่วงการขาย คอนเวอร์ชันโดยเฉลี่ยท่ีได้จากการสัมมนาออนไลน์อาจอยู่ที่ประมาณ 20%
การได้เห็นคอนเวอร์ชันเช่นนี้เป็นการยืนยันว่าตลาดต้องการคอร์สที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นให้คุณใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสัมมนาออนไลน์ มอบข้อมูลดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อคอร์ส และอย่าลืมรวบรวมข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมด้วย ว่าพวกเขาเห็นว่าเรื่องใดมีค่าและมีอะไรที่พวกเขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติม
วิธีการเหล่านี้ที่ใช้ตรวจสอบแนวคิดสำหรับคอร์สออนไลน์ของคุณจะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการสร้างคอร์สที่ขายไม่ออก
5. ขายคอร์สล่วงหน้า
การขายคอร์สล่วงหน้า หมายถึงการขายคอร์สของคุณก่อนที่คุณจะสร้างมันขึ้นมา นี่เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการลดความเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างคอร์สที่ไม่มีใครต้องการ
ข้อดีอื่นๆ ของการขายคอร์สล่วงหน้านั้นก็คือคุณจะได้ทดสอบไอเดียของคุณ ได้ปรับเนื้อหาให้ตรงตามข้อเสนอที่ผู้ซื้อมอบให้ตั้งแต่เนิ่นๆ และมีทุนไปสร้างคอร์สจากการขายล่วงหน้า นอกจากนี้ การมีผู้เรียนลงทะเบียนล่วงหน้า แม้ไม่กี่คน แต่ก็จะเป็นแรงจูงใจให้คุณทำคอร์สให้เสร็จพร้อมเปิดตัว
การทำให้ลูกค้ากลุ่มแรกของคุณลงทะเบียนซื้อคอร์สล่วงหน้า (หรือการสั่งซื้อล่วงหน้า) สามารถทำได้โดยการสร้างแลนดิ้งเพจสำหรับการขายล่วงหน้า และจูงใจผู้ซื้อด้วยส่วนลด
เช่น ใช้ Shopify เพื่อสร้างหน้าเพจสำหรับการขายคอร์สล่วงหน้าและเก็บเงินค่าคอร์ส หากคุณต้องการเพิ่มฟังก์ชันการสั่งซื้อล่วงหน้าในร้านค้า ให้ดาวน์โหลดแอป อาทิ Pre-order Now, Pre-order Manager และ Crowdfunder จาก Shopify App Store นอกจากนี้ Shopify ยังทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มสำหรับคอร์สออนไลน์อื่นๆ ด้วย เช่น Thinkific และ Teachable
สิ่งที่คุณต้องมี หากต้องการขายคอร์สล่วงหน้า
- อย่างน้อยที่สุดต้องมีชื่อ หัวข้อ และโครงร่างคอร์ส เพื่อให้ผู้ซื้อกลุ่มแรกๆ เห็นภาพว่าพวกเขาจะได้เรียนอะไรในหลักสูตรบ้าง
- ตั้งเป้าหมายว่าการขายล่วงหน้าที่ประสบความสำเร็จจะมีลักษณะอย่างไร
ตัวอย่างเช่น คุณอาจตั้งเป้าไว้ว่าคุณต้องการขายคอร์สล่วงหน้าให้ได้ 25 ราย ถ้าคุณทำได้น้อยกว่านี้ในช่วงเวลาที่กำหนด คุณก็อาจจะต้องค่อยๆ คิดดีๆ แล้วว่าอยากจะสร้างคอร์สนี้ต่อ หรือจะเลือกคืนเงินที่ลูกค้าชำระมาแล้ว แล้วกลับไปที่ขั้นตอนการเริ่มต้นร่างไอเดียอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีสร้างหน้า "เร็วๆ นี้" และเริ่มทำการตลาดก่อนเปิดตัวสินค้า
6. ร่างเนื้อหาคอร์ส
ในการร่างเนื้อหา คิดเนื้อหา และการแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลคือสิ่งจำเป็น เพราะคุณจะต้องมองในมุมมองของผู้เรียน โดยเริ่มจากสถานะสุดท้ายที่คุณต้องการให้ผู้เรียนเป็นหลังเรียนจบ และไล่เรียงย้อนกลับมาจากจุดนั้น
แบ่งเนื้อหาออกเป็นโมดูลและบทเรียน
ประเภทของคอร์ส (เช่น คอร์สขนาดเล็ก คอร์สหลายวัน และมาสเตอร์คลาส) จะเป็นหนึ่งใจปัจจัยที่กำหนดปริมาณของเนื้อหาในคอร์สและจำนวนบทเรียนที่คุณจะใส่ไว้ในคอร์ส รวมถึงเวลาที่ใข้ในการเรียนและค่าใช้จ่าย
เมื่อคุณตัดสินใจเลือกประเภทของคอร์สได้แล้ว ให้แบ่งคอร์สออกเป็นโมดูลและบทเรียน หรือหมวดหมู่หลักและหมวดหมู่ย่อยที่ชัดเจน
ตัวอย่างเช่น หากคุณสร้างคอร์สเกี่ยวกับการตลาดเนื้อหา นี่คือตัวอย่างการแบ่งคอร์สออกเป็น 5 โมดูล
โมดูล 1: การตั้งกลยุทธ์ของคอนเทนต์
โมดูล 2: การเขียนคอนเทนต์ที่สร้างคอนเวอร์ชันได้
โมดูล 3: การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับต้นๆ ในเครื่องมือค้นหา (SEO)
โมดูล 4: การจัดการปฏิทินคอนเทนต์
โมดูล 5: การปล่อยคอนเทนต์
จากนั้นคุณสามารถแบ่งโมดูลของคุณออกเป็นบทเรียนที่เจาะลึกลงไปในหัวข้อนั้นๆ และที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ จากคอร์สที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น คุณอาจจะแบ่งโมดูลต่างๆ ออกเป็นบทเรียนได้ดังนี้
โมดูล 1: การตั้งกลยุทธ์ของคอนเทนต์
- บทเรียน 1: กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านบรรณาธิการ
- บทเรียน 2: กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและบุคลิกผู้อ่าน
- บทเรียน 3: ร่างเส้นทางคอนเทนต์ของลูกค้า
- บทเรียน 4: วิจัยคอนเทนต์คู่แข่ง
- บทเรียน 5: ตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบของคอนเทนต์
โมดูล 2: การเขียนคอนเทนต์ที่สร้างคอนเวอร์ชันได้
- บทเรียน 1: การเลือกหัวข้อที่เหมาะสม
- บทเรียน 2: การวิจัยและการร่าง
- บทเรียน 3: การสร้างการดึงดูดที่สมบูรณ์แบบ
- บทเรียน 4: การร่างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ
- บทเรียน 5: การปรับแก้อย่างมีประสิทธิภาพ
โมดูล 3: การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับต้นๆ ในเครื่องมือค้นหา (SEO)
- บทเรียน 1: การวิจัยคำหลัก
- บทเรียน 2: SEO ในเว็บไซต์
- บทเรียน 3: SEO เชิงเทคนิค
- บทเรียน 4: SEO นอกเว็บไซต์ และการสร้างลิงก์ย้อนกลับ
- บทเรียน 5: เครื่องมือ SEO และการวัดผล
โมดูล 4: การจัดการปฏิทินคอนเทนต์
- บทเรียน 1: การเลือกเครื่องมือปฏิทินสำหรับคอนเทนต์ของคุณ
- บทเรียน 2: การจัดประเภทคอนเทนต์บนปฏิทิน
- บทเรียน 3: การตั้งค่าการประชุมประจำเกี่ยวกับคอนเทนต์
- บทเรียน 4: การรักษาความเป็นระเบียบในปฏิทินคอนเทนต์ของคุณ
- บทเรียน 5: การรักษาคลังไอเดียและคิวของคอนเทนต์
โมดูล 5: การปล่อยคอนเทนต์
- บทเรียน 1: การโปรโมทคอนเทนต์บนช่องทางที่คุณเป็นเจ้าของ
- บทเรียน 2: การปรับปรุงและการนำคอนเทนต์กลับมาใช้ใหม่
- บทเรียน 3: การเสนอให้กับสำนักพิมพ์และจดหมายข่าว
- บทเรียน 4: การเผยแพร่คอนเทนต์ของคุณ
- บทเรียน 5: การโฆษณาแบบชำระเงินและการเป็นสปอนเซอร์
เมื่อคุณมีโครงร่างที่ชัดเจน ซึ่งจะบอกว่าหัวข้อในแต่ละโมดูลและบทเรียนของคุณมีอะไรบ้างแล้ว คุณก็ควรมีทิศทางที่ชัดเจนในการเริ่มสร้างเนื้อหาคอร์สของคุณไปทีละบทเรียน บทเรียนแต่ละบทควรมีขั้นตอน ข้อมูล และแบบฝึกหัดที่ชัดเจนให้กับผู้เรียนได้ฝึกฝน และในแต่ละบท คุณควรมีวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ชัดเจนที่ผู้เรียนซึ่งซื้อคอร์สมาแล้วจะได้รับกลับไปเมื่อเรียนจบ
กำหนดรูปแบบบทเรียน
สื่อของคอร์สของคุณอาจมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของคอร์สที่คุณตัดสินใจสร้าง สำหรับคอร์สขนาดเล็กที่ฟรีหรือมีราคาไม่สูง คุณอาจเลือกรูปแบบอีเมล ซึ่งจะใส่ข้อความและภาพประกอบหรือสกรีนช็อตได้ในรูปแบบที่จำกัด
อย่างไรก็ตาม สำหรับคอร์สที่เข้มข้นและมีราคาสูงขึ้น แทนที่จะใช้เพียงข้อความหรือวิดีโอเพียงอย่างเดียว คุณควรใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ เพื่อดึงให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมตลอดทั้งคอร์ส และนี่คือตัวอย่างรูปแบบของสื่อยอดนิยมและข้อดีของแต่ละรูปแบบ
- วิดีโอ: เหมาะสำหรับการถ่ายทอดไอเดียด้วยวิธีง่ายๆ และใช้เวลาได้อย่างเหมาะสม
- คลิปจากการอัดวิดิโอและการสาธิต: เหมาะสำหรับกระบวนการที่ผู้เรียนต้องเห็นขั้นตอนที่แน่นอน
- ข้อความตัวหนังสือ: เหมาะที่สุดสำหรับการอธิบายแนวคิดอย่างละเอียด ให้ข้อมูลทีละขั้นตอน และเชื่อมโยงไปยังแหล่งข้อมูลอื่นๆ บนเว็บ
- เนื้อหาที่ดาวน์โหลดได้: เหมาะสำหรับเอกสารสรุปข้อมูลรวบยอด (Cheat Sheet) คำศัพท์ แม่แบบ และเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ
- เวิร์กบุ๊ก: มีประโยชน์ในการช่วยให้ผู้เรียนทำความเข้าใจแนวคิดต่างๆ
สำหรับแนวทางปฏิบัติที่แนะนำ คุณควรทำให้คลิปวิดีโอมีความยาวไม่เกิน 10 นาที และมุ่งเน้นไปที่การสร้างเนื้อหาที่มีจุดมุ่งหมายและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ในระหว่างขั้นตอนการวิจัย ให้ดูว่าคู่แข่งของคุณใช้สื่อรูปแบบใด และอาจจะถามคนที่มีโอกาสเป็นผู้เรียนว่าสื่อการเรียนการสอนแบบไหนที่พวกเขาคิดว่าน่าดึงดูดใจที่สุด
7. ตั้งราคาคอร์สและตั้งเป้ายอดขาย
ราคาของคอร์สของคุณจะแตกต่างกันไปตามประเภทของคอร์สที่คุณสร้าง กล่าวคือคอร์สขนาดเล็กจะฟรีหรือมีราคาไม่สูง คอร์สหลายวันจะมีราคากลางๆ ส่วนมาสเตอร์คลาสมักจะมีราคาสูง อย่างไรก็ตาม ราคาของคอร์สจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการที่คุณต้องนำมาพิจารณาด้วย ดังนี้
- ความเฉพาะเจาะจงและหัวข้อของคอร์ส: ให้คุณพิจารณาว่าคอร์สของคุณอยู่ในอุตสาหกรรมใด และลูกค้าน่าจะมีความอ่อนไหวต่อราคามากน้อยแค่ไหน ลูกค้าที่ซื้อคอร์สเกี่ยวกับการลงทุนมักมีเต็มใจที่จะจ่ายเงินมากกว่าลูกค้าที่ซื้อคอร์สดิจิทัลเกี่ยวกับการตลาดโซเชียลมีเดีย
- การตลาด: คุณวางแผนที่จะใช้งบการตลาดเท่าไหร่ คุณต้องแน่ใจว่าต้นทุนในการประชาสัมพันธ์คอร์สของคุณนั้นสัมพันธ์กับการตั้งราคาของคุณ
- ความน่าเชื่อถือของผู้สร้างคอร์ส: ผู้ซื้อยอมจ่ายมากขึ้นสำหรับคอร์สที่สร้างโดยคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวท๊อปของวงการ คุณต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของคุณในขณะที่ตั้งราคาด้วย
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่าคุณควรตั้งราคาคอร์สของคุณเท่าไหร่ ให้คุณวิจัยราคาคู่แข่งเพื่อดูว่าผู้สร้างคอร์สดิจิทัลคนอื่นๆ ที่มาความเชี่ยวชาญเดียวกับคุณตั้งราคาคอร์สของตนเองเท่าไหร่ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้ขายคอร์สของตัวเองในราคาที่ต่ำเกินไป และในทางกลับกัน ให้มองทุกอย่างตามความเป็นจริงและหลีกเลี่ยงการตั้งราคาที่สูงเกินไป อย่ากลัวที่จะศึกษาในสิ่งที่คู่แข่งเสนอ จากนั้นเพิ่มมูลค่าให้กับข้อเสนอของคอร์สที่คุณทำ และตั้งราคาคอร์สของคุณให้เหมาะสมตามนั้น
นอกจากจะค้นคว้าข้อมูลเพื่อตั้งราคาโดยเฉพาะแล้ว ให้คุณให้ตั้งเป้ายอดขายไว้ด้วย โดยเป้านี้จะบอกว่าคุณควรตั้งราคาและทำการตลาดให้กับคอร์สของคุณอย่างไร
ตัวอย่างเช่น หากเป้ายอดขายของคุณคือ 500,000 บาท ก็มีหลายวิธีในการตั้งราคาคอร์สของคุณ ดังนี้
สถานการณ์ที่ 1:
- เป้าหมาย: ยอดขายคอร์ส 500,000 บาท
- ราคาคอร์ส: 2,000 บาท
- ยอดผู้ซื้อที่ต้องการ: 2,500 ครั้ง
สถานการณ์ที่ 2:
- เป้าหมาย: ยอดขายคอร์ส 500,000 บาท
- ราคาคอร์ส: 2,500 บาท
- ยอดผู้ซื้อที่ต้องการ: 200 ครั้ง
ในสถานการณ์แรก คุณตั้งราคาคอร์สต่ำและต้องการลูกค้าจำนวนมาก ในขณะที่ในสถานการณ์ที่ 2 คุณตั้งราคาคอร์สสูงและต้องการลูกค้าจำนวนน้อยกว่า แล้วสถานการณ์ไหนดีกว่ากันล่ะ
โดยทั่วไป การตั้งราคาคอร์สของคุณต่ำเกินไปไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดี เหตุผลประการหนึ่งก็คือคุณจะต้องใช้เวลาและเงินในการทำการตลาดคอร์สเพื่อดึงดูดผู้เข้าชมไปยังหน้าเพจของคุณ
สมมติว่า 1% ของลูกค้าที่มาที่หน้าเพจของคุณซื้อคอร์ส ในสถานการณ์แรก คุณจะต้องดึงดูดผู้เข้าชม 250,000 คนไปยังหน้าเพจของคุณ แต่ในสถานการณ์ที่ 2 คุณต้องดึงดูดผู้ชม 20,000 คน ประการที่สอง การมีลูกค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคาน้อยกว่าย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า
คุณจึงควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้เมื่อตั้งราคาคอร์ส และหลีกเลี่ยงการตั้งราคาที่ต่ำเกินไป เพราะจะทำให้คุณต้องทำการตลาดอย่างเข้มข้น คุณควรทุ่มเวลาและพลังงานให้กับการสร้างคอร์สที่คุณภูมิใจจะตั้งราคาที่สอดรับกับคุณค่าของคอร์ส
8. เลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะกับคอร์ส
ขั้นตอนต่อไปคือการตัดสินใจว่าอยากโฮสต์เนื้อหาคอร์สของคุณออนไลน์ที่ไหน มีแพลตฟอร์มสำหรับคอร์สให้เลือกมากมาย และแต่ละที่ก็มาพร้อมคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มต่างๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบหลักๆ ได้แก่ สแตนด์อโลน ออลอินวัน และตลาดคอร์สออนไลน์
สแตนด์อโลน
แพลตฟอร์มสแตนด์อโลนอนุญาตให้คุณควบคุมเนื้อหาและข้อมูลของคุณได้มาก ตัวอย่างของแพลตฟอร์มสแตนด์อโลนได้แก่ Thinkific และ Teachable ซึ่งทั้งสองสามารถทำงานผสานเข้ากับ Shopify ได้อย่างง่ายดาย
ลิสต์แพลตฟอร์มแบบสแตนด์อโลน
All-in-one
โซลูชันแบบออลอินวันจะรวมเครื่องมือการตลาด โปรแกรมสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป และแพลตฟอร์มการส่งมอบเนื้อหาไว้ในที่เดียว โดยทั่วไปแล้ว แพลตฟอร์มคอร์สแบบออลอินวันจะมีราคาแพงที่สุด แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะช่วยให้คุณไม่ต้องให้งานเครื่องมือหลายๆ ตัวเพื่อสร้างผลลัพธ์แบบเดียว
ลิสต์แพลตฟอร์มแบบออลอินวัน
ตลาดคอร์สออนไลน์
ตลาดคอร์สออนไลน์นำเสนอแพลตฟอร์มที่มาพร้อมกับผู้ชม ซึ่งสามารถช่วยให้คอร์สของคุณถูกค้นพบได้ง่ายกว่าที่คุณจะต้องลงมือทำด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วคุณจะมีอำนาจในการตั้งราคาและข้อมูลน้อย
ตัวอย่างตลาดคอร์สออนไลน์
ในการเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสมที่สุด ให้คุณประเมินแต่ละแพลตฟอร์มโดยใช้เกณฑ์ต่อไปนี้
- แพลตฟอร์มใช้งานง่ายขนาดไหนสำหรับคุณในฐานะผู้สร้างคอร์สและสำหรับผู้เรียน
- รองรับประเภทเนื้อหาที่คุณต้องการสร้าง (วิดีโอ เสียง ข้อความ ควิซ ฯลฯ) หรือไม่?
- มีฟีเจอร์สำหรับการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เช่น ฟอรั่มการสนทนาหรือเซสชั่นสดหรือไม่?
- คุณสามารถปรับแต่งรูปลักษณ์และความรู้สึกให้ตรงกับแบรนด์ของคุณได้หรือไม่?
- มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง (ค่าเริ่มต้นใช้งาน ค่าธรรมเนียมรายเดือน ค่าธรรมเนียมธุรกรรม)
- มีเครื่องมือการตลาดในตัว เช่น การตลาดทางอีเมลหรือโปรแกรมตัวแทนโฆษณาสินค้าและบริการ หรือไม่?
- แพลตฟอร์มสามารถรองรับการเติบโตของคุณเมื่อคุณเพิ่มคอร์สและมีผู้เรียนมากขึ้นได้หรือไม่?
- มีแอปมือถือสำหรับผู้เรียนเพื่อให้สามารถเข้าถึงคอร์สได้ทุกที่ทุกเวลาหรือไม่?
- แพลตฟอร์มมีบริการช่วยเหลือสำหรับคุณในฐานะผู้สร้างคอร์สมากน้อยขนาดไหน?
อย่าให้การตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มทำให้ตกใจจนไปต่อไม่ได้ เนื้อหาที่แท้จริงของคอร์สมีความสำคัญมากกว่าแพลตฟอร์มที่คอร์สของคุณเลือกใช้ และถ้าแพลตฟอร์มที่คุณเลือกขาดฟีเจอร์ที่ต้องการ คุณก็สามารถเปลี่ยนแพลตฟอร์มได้เสมอ
9. เปิดตัวและโฆษณาคอร์ส
การสร้างคอร์สของคุณเป็นส่วนหนึ่งของสมการส่วนหนึ่ง และการเปิดตัวคอร์สสู่สาธารณะและทำการตลาดให้กับผู้ซื้อเป็นอีกส่วนหนึ่ง
หลังจากที่คุณทุ่มเททำให้คอร์สอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้กับผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้เรียนแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือพาคอร์สนั้นไปอยู่ในมือของพวกเขาผ่านการทำการตลาด และนี่คือตัวอย่างวิธีขายคอร์สและสร้างรายได้
- จัดการสัมมนาออนไลน์ประจำสัปดาห์: การจัดสัมมนาออนไลน์มักมีค่าใช้จ่ายต่ำ และเป็นวิธีที่ดีในการสร้างลูกค้าสำหรับคอร์สของคุณ ถ้ามีใครนั่งฟังการสัมมนาออนไลน์เป็นเวลา 30 ถึง 60 นาที พวกเขาก็มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะซื้อคอร์สของคุณด้วย มาเรียนรู้วิธีการจัดการสัมมนาออนไลน์ที่ดึงดูดลูกค้าได้เลย
- ให้ความสำคัญกับการตลาดทางอีเมล: การทำลิสต์อีเมลของผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้เรียนเป็นวิธีที่ทรงพลังในการแชร์ข่าวสารอัปเดต ข้อมูลต่างๆ และส่วนลดที่เกี่ยวข้องกับคอร์สของคุณ แม้บางคนอาจจะยังไม่ซื้อคอร์สของคุณตอนที่พวกเขาไปที่แลนดิ้งเพจ แต่การขออีเมลของพวกเขาและตั้งค่าการตลาดทางอีเมลก็อาจทำให้พวกเขาซื้อในภายหลัง นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้การตลาดทางอีเมลเพื่อสร้างคอร์สขนาดเล็กที่จะโปรโมทคอร์สหลักของคุณได้ด้วย เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้การตลาดทางอีเมล เพื่อบูสต์ธุรกิจ
- ไปออกพอดแคสต์: การปรากฏตัวในพอดแคสต์เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของคุณ และแสดงความเชี่ยวชาญของคุณผ่านการสนทนา ลองติดต่อพอดแคสต์ที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญเฉพาะของคุณ และอธิบายว่าความเชี่ยวชาญของคุณเข้ากับรายการของพวกเขาอย่างไรและมีคุณค่าสำหรับผู้ฟังของพวกเขาอย่างไรดู ผู้จัดพอดแคสต์ส่วนใหญ่จะเปิดโอกาสให้คุณได้ขายสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ หรือแม้แต่เสนอส่วนลดให้กับผู้ฟังของพวกเขา
- ใช้การตลาดทางโซเชียลมีเดีย: หาว่าช่องทางไหนดีที่สุดในการพูดคุยกับผู้ติดตามที่มีโอกาสเป็นผู้เรียนของคุณ เจาะไปที่พวกเขา และสร้างกลยุทธ์โซเชียลมีเดียที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณค่าอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียพร้อมกัน คุณไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องไปปรากฏตัวทั้งบน TikTok, Pinterest, LinkedIn, Facebook, Twitter และ Snapchat แต่ให้คุณเน้นไปที่ไม่กี่แพลตฟอร์ม เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างกลยุทธ์การตลาดโซเชียลมีเดีย
- โฆษณาแบบชำระเงิน: การทำโฆษณาแบบชำระเงิน เช่น Google Ads หรือ Facebook Ads ที่จะพาไปยังหน้าเพจสำหรับการขายของคุณสามารถเป็นกลยุทธ์ที่ทรงพลังเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อในอุดมคติ และเปลี่ยนให้พวกเขาเป็นลูกค้าหลังจากเห็นโฆษณาของคุณ เมื่อเลือกช่องทางโฆษณาแบบชำระเงิน เช่น การจ่ายเงินซื้อโฆษณาออนไลน์ คุณต้องแน่ใจด้วยว่าคุณได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้ โดยต้นทุนในการดึงดูดลูกค้าควรจะน้อยกว่าราคาของคอร์ส มาเรียนรู้วิธีสร้างการเติบโตให้ธุรกิจของคุณด้วยโฆษณาบน Facebook และ Google Ads
- ใช้กลยุทธ์ SEO: การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ติดอันดับต้นๆ ในเครื่องมือค้นหาเป็นสิ่งมีค่าในการทำให้ลูกค้าค้นพบคอร์สของคุณ เรียนรู้วิธีการจัดอันดับเว็บไซต์ของคุณด้วยเช็กลิสต์ที่ต้องติ๊กให้ครบเมื่อทำ SEO
- สร้างกลยุทธ์การตลาดคอนเทนต์: การคอนเทนต์เพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงในคอร์สของคุณแบบฟรีๆ นั้นสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้คุณ ช่วยให้คอร์สและเนื้อหาของคุณถูกค้นพบผ่านผลการค้นหา และเปลี่ยนจากผู้อ่านฟรีเป็นผู้อ่านที่ชำระเงินได้ด้วย เรียนรู้วิธีการดึงดูดลูกค้าให้มากกว่าเดิมด้วยการตลาดคอนเทนต์
การทำการตลาดเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการขายคอร์สนั้นต้องอาศัยการลองผิดลองถูกอยู่บ้าง ให้คุณเริ่มต้นด้วยช่องทางการตลาดไม่กี่ช่องทางเพื่อดูว่าแบบไหนที่ได้ผล จากนั้นให้ทุ่มไปที่กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการนำลูกค้าเข้ามาหาคุณ และเลิกใช้กลยุทธ์ที่ใช้เวลาหรือเงินมากเกินไป
10. รวมข้อเสนอแนะและรีวิวจากผู้เรียน
ในขณะที่ลูกค้าอาจเชื่อสิ่งที่คุณพูด แต่การมีลูกค้าเก่าตัวจริงเสียงจริงมาชื่นชมคอร์สของคุณนั้นย่อมดีกว่า คุณควรรวบรวมข้อเสนอแนะและคำรับรองคุณภาพจากลูกค้า ซึ่งพอใจที่ได้เห็นผลลัพธ์จากคอร์สของคุณ การแสดงเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในแลนดิ้งเพจและในการทำการตลาดนั้นเป็นวิธีที่ทรงพลังในการโน้มน้าว ให้ผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้เรียนได้รับทราบคุณค่าของคอร์ส และผลลัพธ์ความสำเร็จที่คอร์สของคุณสามารถพาพวกเขาไปถึง
ในการรวบรวมรีวิวจากลูกค้และคำรับรองคุณภาพ ให้ถามฟีดแบ็กจากลูกค้าที่ได้เรียนคอร์สของคุณ และถามลูกค้าที่มีฟีดแบ็กดีเยี่ยมว่าพวกเขาจะยินดีให้คำรับรองคุณภาพเพื่อนำไปแสดงในสื่อการตลาดของคุณหรือไม่
คุณต้องสื่อสารกับลูกค้าให้ชัดเจนว่าคุณต้องการให้คำรับรองคุณภาพเป็นไปในทิศทางไหน แทนที่จะขอให้พวกเขาเขียนข้อความเกี่ยวกับประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับจากคอร์ส ก็ให้ถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น “รายได้ใหม่ที่คุณได้จากการเรียนคอร์สของเราคือเท่าไหร่” หรือ “คุณรู้สึกพร้อมแค่ไหนในการเรียนคอร์สใบอนุญาตผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ ทั้งก่อนและหลังเรียนกับเรา” รายละเอียดที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าคอร์สของคุณมีประโยชน์อย่างไรนั้นทรงพลังยิ่งกว่าการเขียนแบบกว้างๆ และหากเป็นไปได้ ให้คุณขอคำรับรองคุณภาพในรูปแบบคลิวิดีโอแทนข้อความ
แน่นอนว่าการขอข้อเสนอแนะไม่ควรเป็นเรื่องของคำรับรองคุณภาพเพียงอย่างเดียว เพราะเราสามารถขอข้อเสนอแนะในเชิงบวก เพื่อให้ทราบว่าส่วนไหนของคอร์สที่ตอบโจทย์ผู้เรียนได้ดี และใช้ความเห็นเหล่านี้ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มาปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนของคอร์สที่อาจจะยังไม่ดีพอ การรับฟังคำติชมอย่างจริงจังจากผู้เรียนแต่ละกลุ่มที่ซื้อคอร์สจะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาคอร์สคอร์สอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดให้กับผู้เรียนได้
ประโยชน์ของการสร้างคอร์สออนไลน์
เนื่องจากไม่ต้องปวดหัวเรื่องการสต๊อกสินค้าหรือปัญหาซัพพลายเชน การขายคอร์สออนไลน์เป็นจึงแนวคิดธุรกิจออนไลน์ที่น่าสนใจ
- คอร์สออนไลน์สามารถขยายได้: การสร้างคอร์สออนไลน์ต้องใช้เวลาและความพยายามมาก อย่างไรก็ตาม เพราะผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์ดิจิทัล คุณจึงสามารถสร้างทรัพยากรเดียวและขายให้กับผู้คนหลายร้อย หลายพัน หรือแม้แต่ล้านคนทั่วโลกได้เลย และกระบวนการนี้ก็สามารถทำให้เป็นระบบอัตโนมัติได้เพื่อให้ใครๆ ก็สามารถซื้อคอร์สของคุณได้ในไม่กี่คลิก
- คอร์สออนไลน์มีต้นทุนต่ำ: คุณอาจต้องสมัครรับซอฟต์แวร์เพียงไม่กี่ตัวในการโฮสต์คอร์ส เพื่อส่งอีเมลถึงผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้เรียน และสร้างคอมมิวนิตี้ของผู้เรียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของคอร์สที่สร้างด้วย
- คอร์สออนไลน์มีส่วนต่างกำไรสูง: หลังหักต้นทุนที่ใช้ในการสร้างคอร์สและการตลาดแล้ว รายได้ที่เหลือจากคอร์สอาจเป็นกำไร ในขณะที่ผู้ประกอบการแบบดั้งเดิมจำนวนมากที่ขายสินค้าแบบจับต้องได้มีส่วนต่างกำไรที่น้อยมาก แต่ผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เช่น คอร์สเรียนสามารถมีส่วนต่างกำไรสูงถึง 85% เช่น ถ้าคุณขายคอร์สในราคา 1,000 บาท คุณก็จะได้กำไร 850 บาท
- คอร์สออนไลน์สร้างรายได้แบบพาสซีฟ: แม้ว่ารายได้แบบพาสซีฟจะไม่เคยเป็นแบบพาสซีฟจริงๆ เพราะคุณต้องทุ่มเวลา ทุ่มเงิน และทุ่มความพยายามลงไปล่วงหน้า แต่คอร์สออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จก็นับว่าใกล้เคียงนิยามนี้ เมื่อคุณสร้างคอร์สเรียนออนไลน์แล้ว คุณก็จะสามารถสร้างรายได้จากคอร์สนั้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคอร์สของคุณเป็นแบบที่ดาวน์โหลดได้เท่านั้น และไม่ได้เป็นคอร์สที่ต้องมีการเรียนเป็นกลุ่มโดยมีการเรียนการสอนแบบไลฟ์หรือมีคอมมิวนิตี้ของผู้เรียนเป็นส่วนประกอบ
เริ่มขายคอร์สออนไลน์วันนี้
ทำการบ้านกับข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เหมือนใคร ใส่ความรู้ที่มีคุณค่า และทักษะที่สามารถขายได้ ที่ซึ่งคุณสามารถนำไปแชร์กับคนอื่นๆ ผ่านคอร์สออนไลน์คอร์สแรกของคุณ
- ถ้าคุณเรียนวิธีการวาดภาพสร้างแรงบันดาลใจบน iPad ด้วยตัวเอง คุณก็มีโอกาสที่จะสอนคนอื่นๆ ให้วาดได้แบบคุณเช่นกัน
- ถ้าคุณเคยช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถขายการมีส่วนร่วมทางโซเชียลมีเดียได้ในหลายแบรนด์ ก็มีโอกาสที่จะมีผู้ซื้อสนใจว่าคุณทำได้อย่างไร
- หากคุณเป็นหัวหน้าทีมที่จัดการดูแลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายในองค์กร และพี่เลี้ยงที่ช่วยให้คำแนะนำผู้ที่เพิ่งเข้ามาทำงานในสายงานนี้ คุณควรลองพิจารณาทำแบบเดียวกันนี้ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็คือการสอนผ่านคอร์ส
การสร้างคอร์สออนไลน์ที่น่าสนใจและประสบความสำเร็จ หมายถึงการใส่ความหลงใหลของคุณลงไปในผลิตภัณฑ์ดิจิทัล การเริ่มต้นการเดินทางในฐานะผู้สร้างคอร์สออนไลน์ จะทำให้คุณสามารถสร้างรายได้จากความหลงใหลและความเชี่ยวชาญของคุณ พร้อมกับช่วยให้ผู้อื่นได้เรียนรู้จากคุณไปด้วย
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการสร้างคอร์สออนไลน์
คอร์สออนไลน์คืออะไร
คอร์สออนไลน์ คือชุดบทเรียนหรือโมดูลที่นำเสนอผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามจังหวะที่ตนเองสะดวก และโดยมากก็มักจะเรียนจากบ้าน คอร์สเหล่านี้ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ มากมาย และสามารถเข้าถึงได้ผ่านหลากแพลตฟอร์ม
จะสร้างคอร์สออนไลน์ฟรีได้อย่างไร
เลือกหัวข้อเฉพาะที่มีความต้องการในตลาดและในเรื่องที่คุณมีความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ ความน่าเชื่อถือ และความชอบ เลือกประเภทคอร์สที่คุณต้องการสร้าง สื่อที่จะใช้สำหรับเนื้อหา โครงสร้างหลักสูตรที่จะวาง รูปแบบแพลตฟอร์มที่จะถ่ายทอด และวิธีการตั้งราคาและโฆษณาคอร์ส
จะสร้างคอร์สออนไลน์บน Udemy ได้อย่างไร
ในการสร้างคอร์สออนไลน์บน Udemy อันดับแรกให้ลงทะเบียนเป็นผู้สอน จากนั้นวางแผนเนื้อหา ทำคลิปวิดีโอคุณภาพสูงและสื่อการเรียนการสอนเพิ่มเติม จากนั้นอัปโหลดเนื้อหาของคุณไปยัง Udemy ตั้งราคาและเผยแพร่คอร์สของคุณเพื่อให้ผู้เรียนมาลงทะเบียนเรียน
การสร้างคอร์สออนไลน์มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
คอร์สพื้นฐานสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยเงินไม่กี่พันบาท โดยใช้อุปกรณ์ธรรมดาๆ และการโฮสต์ฟรี ส่วนคอร์สมีความเป็นมืออาชีพขึ้นมาหน่อยก็อาจมีค่าใช้จ่ายหลายแสนบาท โดยมีต้นทุนการผลิตวิดีโอ ซอฟต์แวร์แบบคัสตอม และค่าการตลาด
การสร้างคอร์สออนไลน์ทำกำไรได้หรือไม่
ด้วยความที่การเรียนทางออนไลน์กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การสร้างคอร์สออนไลน์จึงสามารถทำกำไรได้ เป้าหมายในการสร้างคอร์สคือคุณต้องแน่ใจว่าคอร์สของคุณนั้นมีคุณค่าและเป็นที่สนใจของผู้ชมจำนวนมาก เพราะคอร์สออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่ “สร้างขึ้นมาแล้วปล่อยทิ้งเอาไว้” เพราะคุณต้องทำการตลาดอย่างแข็งขันอยู่เรื่อยๆ ด้วย