บริษัทที่ให้บริการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในโลกอีคอมเมิร์ซ บริษัทที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า BNPL เหล่านี้ ได้นำเสนอแผนที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถแบ่งการชำระเงินออกเป็นงวดที่กำหนด แทนที่จะต้องจ่ายเงินรวดเดียวเมื่อซื้อสินค้า
นอกจากจะใช้งานง่ายแล้ว แอป BNPL ยังมีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่ำ และมีวงเงินเครดิตที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าทั่วๆ ไปได้อีกด้วย ทางเลือกนี้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจแทนการใช้บัตรเครดิต
ในฐานะเจ้าของธุรกิจ บริษัท BNPL จะช่วยให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้สะดวกขึ้น และสามารถเพิ่มกำไร/ขาดทุนสุทธิให้กับคุณได้ด้วย เมื่อใช้ BNPL คุณจะสามารถเสนอวิธีการชำระเงินที่แสนง่ายให้กับลูกค้า พร้อมกันนั้นคุณก็ยังจะได้รับเงินเต็มจำนวนทันที และเมื่อคุณเข้าใจว่าบริษัท BNPL ดังๆ มีประโยชน์อย่างไรกับธุรกิจแล้ว คุณก็จะสามารถตัดสินใจเลือกบริษัทที่ตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจของคุณได้
บริษัท BNPL บริการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง คืออะไร?
บริษัท BNPL สร้างและรองรับรูปแบบการชำระเงินผ่านแอปที่ใช้ได้ทั้งทางออนไลน์และในร้านค้า โมเดล BNPL นั้นก็คล้ายกับบัตรเครดิตอยู่ในหลายแง่มุม กล่าวคือเมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการผ่านแอป ร้านค้าก็จะได้รับเงินทันที และผู้บริโภคก็จะผ่อนชำระเงินในจำนวนเท่าๆ กันตามระยะเวลาที่กำหนด (มักไม่มีดอกเบี้ย)
สำหรับผู้บริโภคแล้ว การชำระเงินโดยใช้บริการ BNPL นั้นมีข้อดีหลายประการ โครงสร้างการชำระเงินนั้นเรียบง่ายและตรงไปตรงมา และบริษัท BNPL มักไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมกับผู้ใช้ที่ชำระเงินตรงเวลา นอกจากนี้ แอป BNPL ส่วนใหญ่นั้นสมัครง่าย และกระบวนการอนุมัติก็ไม่ซับซ้อน บริษัท BNPL อาจตรวจสอบเครดิตบ้างเล็กน้อยกับผู้ใช้ใหม่ ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อคะแนนเครดิตของลูกค้า และด้วยความสะดวกต่องานใช้งานนี้เอง ธุรกรรมที่ทำผ่าน BNPL จึงคิดเป็น 5% ของปริมาณการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซทั่วโลกในปี 2023 และคาดว่าจะมีมูลค่าการทำธุรกรรมจะเติบโตถึง 452 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027 (ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท)
แอป BNPL สามารถเป็นทางออกที่มอบประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย โดยผู้บริโภคสามารถกู้สินเชื่อสำหรับการซื้อที่อาจไม่สามารถจ่ายได้ในทันที ลดจำนวนตระกร้าสินค้าออนไลน์ที่ยังไม่ชำระเงินบนเว็บไซต์ของผู้ค้า และบริษัท BNPL จะได้รับค่าธรรมเนียมจากผู้ค้าในการดำเนินการทำธุรกรรม
ข้อกำหนดบริษัท BNPL บริการการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง
แผนการชำระเงินแบบซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง นั้นจะต่างจากบัตรเครดิต เพราะโดยปกติแล้วผู้ซื้อนั้นไม่จำเป็นต้องชำระดอกเบี้ย และผู้บริโภคจะพบว่า บริการประเภทนี้มักจะได้รับการอนุมัติง่ายกว่าบัตรเครดิต ทำให้สามารถซื้อสินค้ายอดใหญ่ๆ โดยทยอยจ่ายแบบที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยได้
การใช้แผนการชำระเงิน BNPL จะไม่ส่งผลต่อคะแนนเครดิตของผู้บริโภค เว้นแต่จะผิดนัดชำระเงิน การผิดนัดชำระเงินอาจส่งผลให้ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่าช้า และอาจส่งผลต่อการรายงานกับหน่วยงานเครดิต
สำหรับธุรกิจต่างๆ ความเสี่ยงนั้นถือว่าต่ำ เนื่องจากการเรียนคืนยอดเงินมักอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ BNPL และเช่นเดียวกับวิธีการชำระเงินออนไลน์อื่นๆ สินเชื่อ BNPL อาจเสี่ยงต่อการฉ้อโกง แต่กระนั้น ผู้ให้บริการ BNPL ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดกรณีเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม การบริการลูกค้านั้นก็กำหนดไว้ว่าคุณควรดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการฉ้อโกง และให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกง
⚠️ หมายเหตุ: เช่นเดียวกับการทำสัญญาทุกครั้ง คุณควรอ่านข้อกำหนดและเงื่อนไขของแพลตฟอร์ม BNPL ที่คุณจะผสานเข้ากับเว็บไซต์ของคุณก่อนทุกครั้ง
8 บริษัทที่ให้บริการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลังที่ได้รับความนิยม
การใช้แอป BNPL ที่มีชื่อเสียงสามารถช่วยลดความไม่แน่นอนให้กับคุณและลูกค้าได้ และนี่คือบริษัท BNPL 8 เจ้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด
1. การผ่อนชำระผ่าน Shop Pay
การผ่อนชำระผ่าน Shop Pay โดย Shopify เปิดตัวในปี 2025 เพื่อเป็นตัวเลือกแสนสะดวกสำหรับธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์มนี้อยู่แล้ว
รายละเอียด
- การผ่อนชำระผ่าน Shop Pay ให้บริการโดย Affirm
- ผู้บริโภคผ่อนชำระสินเชื่อ BNPL ของตนเป็นระยะเวลา 4 งวด งวดละเท่าๆ กัน หรือผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 12 เดือน
- ธุรกิจจะต้องผ่านการตรวจสอบว่ามีเข้าเกณฑ์ใช้บริการหรือไม่ รวมถึงต้องเปิดใช้งาน Shopify Payments และ Shop Pay
ข้อดี
- เพิ่มมูลค่าคำสั่งซื้อเฉลี่ยได้ถึง 50%
- มอบประสบการณ์การชำระเงินที่รวดเร็วขึ้น 30% สำหรับผู้ใช้ที่กลับมาใช้บริการผ่อนชำระ
- ลดจำนวนตระกร้าสินค้าที่ยังไม่ชำระเงินได้ถึง 28%
- เข้าถึงฐานผู้ใช้กว่า 100 ล้านคนของ Shop Pay
- ผู้บริโภคมีตัวเลือกการชำระเงินที่ยืดหยุ่น คือมีทั้งการผ่อนชำระ 4 งวด และผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 12 เดือน
- ไม่เก็บค่าธรรมเนียมล่าช้าสำหรับลูกค้า
ข้อเสีย
- การผ่อนชำระผ่าน Shop Pay ปัจจุบันมีให้บริการเฉพาะในสหรัฐอเมริกา
2. Affirm
Affirm ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ให้บริการในสหรัฐอเมริกาผ่านร้านค้ากว่า 245,000 แห่ง และมอบสินเชื่อให้กับการซื้อสินค้ากว่า 17 ล้านรายการ
รายละเอียด
- ดอกเบี้ย: 0 - 30% ขึ้นอยู่กับแผนการชำระเงินและการเข้าเกณฑ์รับสิทธิ์
- ระยะเวลาสินเชื่อ มีทั้ง 6 สัปดาห์ 6 เดือน และ 1 ปี
- ไม่มีค่าธรรมเนียม
- วงเงินเครดิตสูงสุด 17,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 612,500 บาท)
ข้อดี
- มีให้บริการทั้งทางออนไลน์และในร้านค้า
- มีโครงสร้างการชำระเงินหลายรูปแบบ จึงมาพร้อมตัวเลือกที่หลากหลาย
- ผู้ค้าเป็นผู้ตั้งอัตราและระยะเวลาการผ่อนชำระ
- มีการตรวจสอบเครดิตของผู้บริโภคเล็กน้อย
ข้อเสีย
- การผิดนัดชำระจะส่งผลต่อคะแนนเครดิตของผู้ใช้
- ธุรกรรมส่วนใหญ่ต้องผ่านการตรวจสอบเครดิต
- บางธุรกรรมมีการคิดดอกเบี้ย
3. Afterpay
Afterpay เปิดตัวในออสเตรเลียเมื่อปี 2014 ก่อนจะขยายไปยังสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยมีแบรนด์ประมาณ 122,000 แบรนด์กำลังใช้ Afterpay เพื่อเข้าถึงลูกค้ามากกว่า 19 ล้านคน
รายละเอียด
- ไม่มีดอกเบื้อ
- ระยะเวลาสินเชื่อ 6 สัปดาห์
- ค่าธรรมเนียมการชำระเงินล่าช้าหรือการผิดนัดชำระอาจสูงถึง 25% ของราคาซื้อ
- วงเงินเครดิตเริ่มต้นที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17,500 บาท)
ข้อดี
- กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายอย่างมีความรับผิดชอบในหมู่นักเรียนนักศึกษาและผู้ที่ยังไม่มีคะแนนเครดิต จึงเป็นการนำผู้บริโภคหน้าใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาด
- แอปมีบัตรเครดิตเสมือนสำหรับการซื้อในร้านค้าทุกร้าน แม้ว่าร้านค้านั้นจะไม่ใช่พันธมิตรกับ Afterpay
- มีฟีเจอร์การเตือนที่จะทำให้ผู้ใช้ไม่พลาดนัดชำระ
- การชำระเงินล่าช้าไม่ส่งผลต่อคะแนนเครดิตของผู้ใช้
ข้อเสีย
- มีโครงสร้างการชำระเงินเพียงแบบเดียว
- การซื้อแต่ละครั้งต้องได้รับการอนุมัติจาก Afterpay
- ไม่ใช่ว่าทุกการซื้อจะได้รับการอนุมัติ
- ค่าธรรมเนียมล่าช้าอาจสูงถึง 25% ของจำนวนเงินที่ซื้อ
4. Sezzle
Sezzle ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 มีลูกค้าที่ใช้งานอยู่ 10 ล้านคน และผู้ค้า 48,000 รายบนแพลตฟอร์ม และด้วยความที่เป็นธุรกิจที่ได้รับการรับรองให้เป็น B Corporation (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร) Sezzle จึงมีบริการเลื่อนนัดชำระเงินสูงสุด 2 สัปดาห์สำหรับลูกค้า
รายละเอียด
- ไม่มีดอกเบี้ย
- ระยะเวลาสินเชื่อ 6 สัปดาห์
- การขาดการชำระเงินจะส่งผลให้บัญชีถูกระงับ มีค่าธรรมเนียมการเปิดใช้งานใหม่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35 บาท)
- วงเงินเครดิตขึ้นอยู่กับผู้ใช้
ข้อดี
- มีความมุ่งมั่นต่อการดำเนินการตามมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
- อนุญาตให้ผู้ใช้เลื่อนการชำระเงินได้ 3 ครั้ง สูงสุด 2 สัปดาห์
- ผู้ใช้สามารถสร้างเครดิตด้วยตัวเลือก Sezzle Up ซึ่งจะรายงานการชำระเงินตรงเวลาให้กับหน่วยงานเครดิต
- บัตรเครดิตเสมือนช่วยให้ชำระเงินในร้านค้าที่เลือกได้
- มีบริการลูกค้าที่ดีเยี่ยม
- มีการตรวจสอบเครดิตของผู้ใช้เล็กน้อย
- มีโครงสร้างการชำระเงิน 3 แบบ
ข้อเสีย
- มีค่าธรรมเนียมสำหรับการเลื่อนการชำระเงินเพิ่มเติม
5. PayPal Pay In 4
PayPal เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และตั้งแต่เปิดตัวบริการ BNPL ในปี 2020 ก็มีผู้ค้าออนไลน์เข้าร่วมหลายล้าน
รายละเอียด
- ไม่มีดอกเบี้ย
- ระยะเวลาสินเชื่อ 6 สัปดาห์
- ไม่มีค่าธรรมเนียม
- วงเงินเครดิต 1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ธุรกรรม (ประมาณ 52,500 บาท)
ข้อดี
- ชื่อแบรนด์เป็นที่รู้จักดี
- เพิ่มการใช้งานได้ง่ายสำหรับผู้ค้าและลูกค้าที่มีบัญชี PayPal อยู่แล้ว
- ผสานการทำงานเข้ากับการชำระเงิน PayPal ที่ตั้งค่าไว้แล้ว
- ได้รับความคุ้มครองจากนโยบายคุ้มครองผู้ซื้อของ PayPal ซึ่งมอบความปลอดภัยเพิ่มเติมในการซื้อให้กับลูกค้า
- มีการตรวจสอบเครดิตของผู้ใช้เล็กน้อย
ข้อเสีย
- ไม่สามารถใช้ในร้านค้าได้
- จำกัดการให้บริการเฉพาะผู้ซื้อและผู้ขายในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ยกเว้นในรัฐมิสซูรีและรัฐเนวาดา ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์นี้มีให้บริการในอีกชื่อหนึ่งในสเปน อิตาลี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
- การซื้อจะต้องได้รับการอนุมัติโดย PayPal
- การขาดการชำระเงินอาจส่งผลต่อคะแนนเครดิตของผู้ใช้
6. Klarna
Klarna เป็นหนึ่งในบริษัท BNPL ที่มีชื่อเสียงที่สุด ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดยนักศึกษาจาก Stockholm School of Economics และปัจจุบันมีให้บริการในหลายประเทศมากกว่าคู่แข่ง
รายละเอียด
- ไม่มีดอกเบี้ยสำหรับแผน Pay Later in 30 Days และ Pay in 4 และมีดอกเบี้ย 0 - 19.99% สำหรับสินเชื่อผ่อนชำระรายเดือน
- ระยะเวลาสินเชื่อมีทั้ง 30 วัน, 6 สัปดาห์ และสูงสุด 36 เดือน (สินเชื่อผ่อนชำระรายเดือน)
- มีค่าธรรมเนียมล่าช้า 7 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับการผิดนัดชำระสำหรับแผน Pay in 4 และสูงสุด 27 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 945 บาท) สำหรับการเรียกคืนยอดชำระในแผน Pay Later in 30 Days
- วงเงินเครดิต 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35,000 บาท) สำหรับแผน Pay Later in 30 Days และ Pay in 4 และวงเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 350,000 บาท) สำหรับตัวเลือกสินเชื่อผ่อนชำระรายเดือน
ข้อดี
- มีให้บริการทั้งทางออนไลน์และในร้านค้า
- มีโครงสร้างการชำระเงินหลายรูปแบบ จึงมาพร้อมตัวเลือกที่หลากหลาย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการการเงินสำหรับการซื้อที่มียอดขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้
- มีให้บริการในหลายประเทศในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ
- มีการตรวจสอบเครดิตของผู้ใช้เล็กน้อย สำหรับผู้ใช้ในแผน Pay Later in 30 Days และ Pay in 4
- ผู้ใช้แอปมือถือสามารถเข้าร่วม Vibe ซึ่งเป็นโปรแกรมสะสมคะแนนที่มาพร้อมการลดราคาแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
- ผู้ใช้สามารถสร้างบัตรของขวัญเสมือนสำหรับใช้ได้ในร้านค้าออนไลน์ได้ทุกร้าน รวมถึงร้านค้าที่ไม่ใช่พันธมิตรกับ Klarna
- มีการโปรโมทพาร์ตเนอร์ผ่านแอป โซเชียลมีเดีย และจดหมายข่าว
ข้อเสีย
- การซื้อแต่ละครั้งต้องได้รับการอนุมัติจาก Klarna
- ผู้ผ่อนชำระรายเดือนจะต้องผ่านการตรวจสอบเครดิตแบบเข้มงวด
- เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนหนึ่งสำหรับการชำระเงินล่าช้า
7. Zip
Zip หรือเดิมชื่อ Quadpay เป็นบริษัท BNPL ของออสเตรเลียที่เปิดตัวในปี 2013 โดยมีแนวคิดง่าย ๆ คือ ซื้อวันนี้ และแบ่งการชำระเงินเป็น 4 งวดเท่ากันโดยไม่มีดอกเบี้ย ลูกค้าสามารถใช้ Zip ได้ทั้งเวลาช้อปปิ้งออนไลน์และในร้านค้า ทำให้แตกต่างจากบริษัท BNPL เจ้าอื่นๆ
รายละเอียด
- ไม่มีดอกเบี้ย
- ระยะเวลาสินเชื่อ: 6 สัปดาห์
- มีค่าธรรมเนียมการชำระเงิน (Convenience Fee) 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 การชำระเงิน (ประมาณ 35 บาท) รวม 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อคำสั่งซื้อ (ประมาณ 140 บาท) และมีค่าธรรมเนียมการชำระเงินล่าช้าสูงสุด 7 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 245 บาท)
- วงเงินเครดิตขึ้นอยู่กับผู้ใช้
ข้อดี
- มีให้บริการทั้งออนไลน์และในร้านค้า
- บัตรเครดิตเสมือนช่วยให้ชำระเงินในร้านค้าได้ แม้ว่าร้านค้านั้นจะไม่ใช่พันธมิตรกับ Zip
- มีการแจ้งเตือนที่จะทำให้ผู้ใช้ไม่พลาดนัดชำระในแต่ละเดือน
- อาจตรวบสอบเครดิตผู้ใช้เล็กน้อย
ข้อเสีย
- มีค่าธรรมเนียมการชำระเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 การชำระเงิน (ประมาณ 35 บาท) หมายความว่าทุกการซื้อจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 4 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 140 บาท)
- มีโครงสร้างการชำระเงินเพียงแบบเดียว
- การซื้อแต่ละครั้งต้องได้รับการอนุมัติจาก Zip
8. Splitit
Splitit ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 และเป็นคู่แข่งที่มีความโดดเด่นในวงการ BNPL โดยมีความแตกต่างจากบริษัท BNPL อื่นๆ ตรงที่ Splitit จะทำงานผ่านบัตรเครดิตที่ผู้ใช้มีอยู่แล้ว โดยเรียกเก็บเงินจำนวนเต็มจากบัตรทีละน้อยตามระยะเวลาที่กำหนด
รายละเอียด
- ไม่มีดอกเบี้ย
- มีระยะเวลาสินเชื่อหลายระยะ
- ไม่มีค่าธรรมเนียม
- ใช้วงเงินบัตรเครดิตที่ลูกค้ามีอยู่แล้ว
ข้อดี
- มีให้บริการทั้งออนไลน์และในร้านค้า
- ไม่ต้องสมัคร ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่มีการตรวจสอบเครดิต
- ใช้บัตรเครดิตที่ลูกค้ามีอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าสามารถเก็บแต้มและสร้างเครดิตได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
- ผู้ใช้สามารถซื้อยอดใหญ่ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องดอกเบี้ย
- มีความร่วมมือกับ Visa, Mastercard, และ Stripe
- ผู้ค้าสามารถกำหนดจำนวนเงินในการซื้อที่เข้าเกณฑ์ และมีแผนธุรกิจให้เลือก 2 แผน
ข้อเสีย
- ผู้ใช้ต้องมีบัตรเครดิตที่มีวงเงินเพียงพอเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการซื้อ
- ไม่สามารถใช้กับบัตร Amex ได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับบริษัท BNPL ซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง
แอป BNPL ที่ใหญ่ที่สุดคือเจ้าไหน
Klarna และ Afterpay เป็นสองบริษัท BNPL ที่ใหญ่ที่สุดโดยมีผู้ใช้นับล้านคน ทั้งสองบริษัทนี้ทำงานร่วมกับผู้ค้านับแสนๆ รายและรับผิดชอบธุรกรรมหลายล้านรายการ
BNPL ช่วยเพิ่มคะแนนเครดิตของคุณหรือไม่
BNPL ไม่ช่วยเพิ่มคะแนนเครดิตของคุณ ด้วยตารางการชำระเงินระยะสั้น คุณมักจะไม่สร้างประวัติเครดิตเพียงพอให้บริษัท BNPL รายงานกับหน่วยงานเครดิตได้ ถึงคุณจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่าช้าสำหรับการผิดนัดชำระเงิน แต่คะแนนเครดิตมักจะไม่ถูกกระทบ และคุณก็ไม่สามารถสร้างเครดิตได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม บางบริษัทเสนอแผนการชำระเงินที่สามารถช่วยผู้ใช้สร้างคะแนนเครดิตได้
ตรวจสอบประวัติเครดิตบริษัท BNPL หรือไม่
แผนบริการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลังส่วนใหญ่จำเป็นต้องตรวจสอบเครดิตบ้างเล็กน้อย ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อคะแนนเครดิต และบริการ BNPL บางเจ้าก็ไม่ต้องมีตรวจสอบเครดิตเลยสำหรับการซื้อยอดเล็กๆ (แต่จะตรวจเมื่อมีการซื้อยอดใหญ่ๆ) อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระบริการ BNPL อาจถูกแจ้งให้หน่วยงานเครดิต ซึ่งอาจส่งผลต่อคะแนนเครดิต และการมีสิทธิ์ที่คุณจะใช้วิธีการชำระเงินนี้ในอนาคต
ความนิยมของบริการซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลังเป็นอย่างไร
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แอปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Affirm, Klarna และการผ่อนชำระผ่าน Shop Pay นั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และบริษัทการเงินขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงอย่าง PayPal ก็กระโดนมาแจม BNPL ด้วย แพลตฟอร์มและแผนการชำระเงินแบบผ่อนชำระกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เนื่องจากมีข้อดีที่เหนือกว่าบัตรเครดิตซึ่งเรียกเก็บดอกเบี้ย มีรายงานเกี่ยวกับการเงินฉบับหนึ่งคาดการณ์ไว้ว่า อุตสาหกรรม BNPL จะเติบโตจาก 2.9% ของมูลค่าการทำธุรกรรมอีคอมเมิร์ซทั่วโลก เป็น 5.3% ภายในปี 2025